Mercedes-Benz GLA รุ่นแรก - รถมือสอง SUV หรูไซส์เล็กที่น่าจับตามองในงบสุดคุ้ม

ในช่วงต้นทศวรรษ 2010 วงการยานยนต์เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ผู้คนจำนวนมากหันมาให้ความสนใจรถ Crossover SUV ขนาดกะทัดรัดมากขึ้น เพราะมันผสมผสานความสะดวกสบายแบบรถเก๋งเข้ากับภาพลักษณ์และความอเนกประสงค์ของรถ SUV ได้ลงตัว รถกลุ่มนี้จึงไม่เพียงดึงดูดแค่ผู้ใช้ทั่วไปที่มองหาความคุ้มค่าเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นสมรภูมิใหม่ที่แบรนด์หรูอย่าง Mercedes-Benz ไม่อยากพลาด
ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่อยากได้รถหรูในขนาดกะทัดรัด Mercedes-Benz จึงเปิดตัว GLA รุ่นแรก (รหัสตัวถัง X156) เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของรถยนต์เซกเมนต์ใหม่ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว GLA เปิดตัวครั้งแรกในปี 2013 และวางจำหน่ายในประเทศไทยปี 2014 มันใช้พื้นฐานร่วมกับ Mercedes-Benz A-Class รุ่น W176 ทำให้มีขนาดไม่ใหญ่มาก ขับง่ายในเมือง แต่ยังคงภาพลักษณ์และคุณสมบัติของความเป็น Mercedes-Benz ไว้ครบถ้วน
เมื่อเวลาผ่านไป ประกอบกับมี GLA เจเนอเรชันที่ 2 มาแทนที่ ทำให้ GLA X156 เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดรถมือสองมากขึ้นและกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากขับ Mercedes-Benz ในราคาที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม การซื้อรถมือสองโดยเฉพาะรถพรีเมียมจากยุโรปมีสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษทั้งเรื่องความทนทานของอะไหล่ ปัญหาที่พบบ่อย ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา รวมถึงรายละเอียดเฉพาะรุ่นที่อาจส่งผลต่อประสบการณ์การใช้งานในระยะยาว
ในบทความนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ GLA รุ่นแรก (X156) ให้มากขึ้น ตั้งแต่ประวัติการพัฒนา จุดเด่น จุดด้อย ปัญหาทางเทคนิคที่ควรระวัง และคำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังมองหารถมือสอง ถ้าคุณกำลังสนใจจะซื้อ Crossover SUV มือสองที่มีขนาดกะทัดรัด รูปลักษณ์ทันสมัย ขับสนุก และมีตราดาวสามแฉกประดับอยู่หน้ารถ ห้ามพลาดบทความนี้เด็ดขาด
ประวัติและภาพรวมของ Benz GLA
Mercedes-Benz GLA X156 ถือเป็นก้าวสำคัญของแบรนด์ดาวสามแฉกในการลงมาเล่นในตลาด Crossover ขนาดเล็กอย่างจริงจัง รถรุ่นนี้เปิดตัวครั้งแรกที่งาน Frankfurt Motor Show ปี 2013 และเริ่มวางจำหน่ายทั่วโลกในปี 2014 โดยถูกวางให้เป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์คนเมืองที่อยากได้ความหรูหรา ความกะทัดรัดคล่องตัว และฟังก์ชันใช้งานที่ครบครัน
GLA X156 สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม MFA (Modular Front Architecture) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าขนาดเล็กของ Mercedes-Benz จุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้คือรองรับการพัฒนารถยนต์หลากหลายโมเดล รองรับเครื่องยนต์หลากหลายความจุ มีความแข็งแกร่ง ให้ประสิทธิภาพการขับขี่และการควบคุมที่ดี และปลอดภัยสูง
รุ่นที่ได้รับความนิยมสูงคือ GLA200 มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซินแบบ 4 สูบเรียง 1.6 ลิตร เทอร์โบ ในด้านระบบส่งกำลังจะเป็นเกียร์อัตโนมัติคลัตช์คู่ 7 สปีด (7G-DCT) โดยรุ่นเริ่มต้นจะมาพร้อมระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ขณะที่รุ่นสูงขึ้นอย่าง GLA 250 และเวอร์ชัน AMG จะติดตั้งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4MATIC มาเป็นมาตรฐาน
สำหรับสายซิ่งที่ชื่นชอบความแรง Mercedes-Benz ได้นำเสนอรุ่น GLA 45 AMG ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร เทอร์โบ รหัส M133 ให้กำลังสูงถึง 360 แรงม้า ณ ตอนเปิดตัว และเพิ่มขึ้นเป็น 381 แรงม้าในรุ่นปรับโฉม Facelift ในปี 2017 ถือเป็นหนึ่งในรถยนต์เครื่อง 2.0 ลิตรขับหน้าที่แรงที่สุดในโลก ณ ช่วงเวลานั้น
ในปี 2017 GLA ก็ได้รับการปรับโฉม Facelift อย่างเป็นทางการ โดยมากับการเปลี่ยนแปลงด้านดีไซน์ภายนอก กระจังหน้าใหม่ กันชนหน้า-หลังใหม่ และเปลี่ยนไฟหน้าเป็นแบบ LED ส่วนการปรับปรุงด้านเครื่องยนต์มีเพียงเล็กน้อย เช่น การเพิ่มแรงม้าในรุ่น GLA 45 AMG จาก 360 เป็น 381 แรงม้า พร้อมการปรับแต่งระบบช่วงล่างและระบบควบคุมต่าง ๆ ให้ตอบสนองฉับไวขึ้น
GLA X156 จึงเป็นรถที่ผสมผสานภาพลักษณ์ความหรูหรา ความคล่องตัว และสมรรถนะที่ให้ความสนุกสนานได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะเมื่อมองในมุมของตลาดรถมือสองในปัจจุบันก็ยังถือว่าเป็นรุ่นที่น่าสนใจ เพราะให้ประสบการณ์การขับขี่ในแบบ Mercedes-Benz ในราคาที่เข้าถึงง่าย อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อควรศึกษาข้อมูลแต่ละรุ่นย่อยให้ละเอียด เพราะรุ่นที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย อาจให้ประสบการณ์ที่ต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา
รุ่นเครื่องยนต์และปัญหาทั่วไป

Mercedes-Benz GLA X156 ทำตลาดในประเทศไทย 3 เครื่องยนต์ ได้แก่
- เบนซิน 1.6 ลิตร เทอร์โบ ใช้เครื่องยนต์ M270 วางขายในรหัส gla200
- เบนซิน 2.0 ลิตร เทอร์โบ ใช้เครื่องยนต์ M270 วางขายในรหัส GLA 250
- เบนซิน 2.0 ลิตร เทอร์โบ ใช้เครื่องยนต์ M133 วางขายในรหัส GLA 45 AMG
แต่ละเครื่องยนต์มีจุดเด่น-จุดด้อยและข้อควรรู้ที่ผู้ซื้อรถมือสองต้องพิจารณา ดังนี้
เครื่องยนต์ M270 (1.6 และ 2.0 ลิตร)
Mercedes-Benz GLA X156 รุ่น GLA 200 และ GLA 250 ใช้เครื่องยนต์ตระกูล M270 เหมือนกัน โดยเครื่องยนต์ตระกูลนี้เป็นบล็อก 4 สูบ 16 วาล์ว พ่วงเทอร์โบ ความแตกต่างของ GLA 200 และ GLA 250 คือปริมาตรกระบอกสูบที่ 1.6 ลิตร กับ 2.0 ลิตร ขณะที่ส่วนประกอบและชิ้นส่วนภายในหลาย ๆ อย่างสามารถใช้ร่วมกันได้ เครื่องยนต์ตระกูล M270 มีการออกแบบที่เน้นประหยัดพื้นที่ น้ำหนักเบา และดูแลรักษาไม่ยาก แต่แน่นอนว่าไม่มีเครื่องยนต์ไหนที่สมบูรณ์แบบตลอดอายุการใช้งาน
จุดอ่อนที่ควรรู้ของเครื่องยนต์ M270
ระบบระบายความร้อน
ระบบระบายความร้อนคือจุดที่หลายคนเจอปัญหาในเครื่องยนต์ M270 ปั๊มน้ำและเทอร์โมสตัทมักมีอายุใช้งานเฉลี่ยประมาณ 60,000 - 70,000 กม. แต่ก็อาจเสียก่อนเวลาได้โดยไม่ต้องมีสัญญาณเตือนใด ๆ อาการที่เจอบ่อยคือขณะขับขี่ตามปกติอาจมีไอน้ำพุ่งจากใต้ฝากระโปรง และมาพร้อมกลิ่นของน้ำยาหล่อเย็น ถ้ามีอาการเหล่านี้ชัดเจนว่าปั๊มน้ำอาจแตกหรือรั่วซึม ควรหยุดรถทันทีและเข้าศูนย์บริการที่ใกล้ที่สุด
ส่วนเทอร์โมสตัทหากเสียจะไม่โชว์อาการแบบชัดเจน แต่อุณหภูมิเครื่องยนต์จะไม่นิ่ง เช่น ร้อนเร็วผิดปกติ หรืออุณหภูมิแกว่งไปแกว่งมา สังเกตได้จากความร้อนเครื่องยนต์ที่ช่วงแรกปกติ ขับไปสักพักความร้อนขึ้น พอจอดสักพักความร้อนก็ลงมาปกติ ปัญหานี้อาจดูเหมือนไม่ร้ายแรงในระยะแรก ๆ แต่ปล่อยไว้นานอาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้
ปัญหาเทอร์โบชาร์จ
เมื่อใช้งานไปประมาณ 60,000 กม. ผู้ใช้หลายรายรายงานว่าเครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น ขับแล้วอืด แถมไฟ Check Engine ยังติดขึ้นมา และมีรหัส P0299 (แรงดันบูสต์ต่ำ) ถูกบันทึกไว้ในระบบ ต้นตอของปัญหานี้มักจะไม่ใช่เทอร์โบเสียทั้งลูก แต่เป็นวาล์วควบคุมแรงดันบูสต์ที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีต้นทุนไม่สูงมาก แต่หากไม่เปลี่ยนก็จะทำให้สมรรถนะเครื่องยนต์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ระบบจุดระเบิด
เมื่อใช้งานถึงประมาณ 75,000 - 80,000 กม. คอยล์จุดระเบิดอาจเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เช่น เครื่องเดินไม่เรียบ หรือเร่งไม่ขึ้น โดยคอยล์มักจะพังทีละตัว ไม่ได้เสียพร้อมกันทั้งหมด แต่ช่างส่วนใหญ่แนะนำให้เปลี่ยนยกชุดเพื่อความชัวร์ ไม่ต้องซ่อมจุกจิกทีละชิ้น
ปัญหาอื่น ๆ ที่ควรจับตา
- วาล์วระบายอากาศในห้องเครื่อง (PCV Valve): มักมีปัญหาที่ระยะประมาณ 60,000 กม. สัญญาณคือไฟ Check Engine ติด และมีโค้ด P052E71 ในระบบ เป็นจุดที่มักมองข้ามแต่เปลี่ยนไม่ยากเพราะเป็นชิ้นส่วนที่อยู่บนท่ออากาศ ไม่ต้องรื้อเครื่อง
- ยางรองแท่นเครื่อง: พอใช้งานไปถึงประมาณ 90,000 - 100,000 กม. ยางแท่นเครื่องจะเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้รถมีอาการสั่นสะเทือนมากขึ้น เห็นได้ชัดตอนเข้าเกียร์ D และเหยียบเบรกค้าง แรงสั่นนี้อาจสร้างความรำคาญ และทำให้เกิดเสียงรบกวนตามชิ้นส่วนภายในห้องโดยสาร
- ซีลเพลาข้อเหวี่ยง: โดยเฉลี่ยจะเริ่มรั่วซึมที่ระยะ 75,000 - 80,000 กม. และมักเปลี่ยนพร้อมกับชุดสายพานหน้าเครื่อง (รอกสายพาน, รอกตึง) เพื่อประหยัดค่าแรงในการถอดประกอบ
- ท่อน้ำมันเชื้อเพลิง: อาจเริ่มมีการรั่วซึมเล็กน้อยหลังวิ่งไปแล้ว 75,000 - 100,000 กม. สังเกตได้จากกลิ่นน้ำมันเบนซินที่โชยเข้ามาในห้องโดยสาร จุดนี้ตรวจเช็กได้ง่ายและเปลี่ยนอะไหล่ไม่ยาก
เครื่องยนต์ M133
เครื่องยนต์ M133 ติดตั้งมาใน Mercedes-Benz GLA X156 เวอร์ชัน AMG เป็นบล็อกเครื่องยนต์ 4 สูบเรียง ความจุ 2.0 ลิตร พ่วงเทอร์โบเดี่ยวแบบ Twin-scroll โดยในรุ่นก่อนปรับโฉมมีกำลัง 360 แรงม้า ส่วนรุ่นปรับโฉม Facelift ปี 2017 ปรับเพิ่มกำลังเป็น 381 แรงม้า และให้แรงบิดสูงสุด 475 นิวตันเมตร ถือเป็นเครื่องยนต์ที่ทรงพลังที่สุดของ GLA X156 และยังเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ 4 สูบที่แรงที่สุดในโลกที่ผลิตในเชิงพาณิชย์ ณ ช่วงเวลาที่เปิดตัว
แน่นอนว่าเมื่อคุณเล่นเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง ย่อมต้องแลกมาด้วยต้นทุนการดูแลรักษาที่สูงขึ้นตามไปด้วย รวมถึงอายุขัยของชิ้นส่วนบางจุดที่สั้นกว่าเครื่องยนต์ธรรมดาทั่วไป สิ่งที่ต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษในเครื่อง M133 ได้แก่
- โซ่ไทม์มิ่ง: แม้จะออกแบบให้ใช้ได้ยาวนานกว่าสายพาน แต่ในเครื่องยนต์ M133 ผู้ใช้จำนวนไม่น้อยรายงานว่าเริ่มมีเสียงรบกวนหรือปัญหาเรื่องระยะห่างที่มากเกินไปตั้งแต่เมื่อใช้งานไปได้ประมาณ 45,000 กม. ซึ่งเร็วกว่าที่ควรจะเป็น หากละเลยอาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงต่อเครื่องยนต์ได้
- เทอร์โบชาร์จเจอร์: ด้วยการใช้งานที่หนักหน่วง เทอร์โบชาร์จเจอร์ของเครื่องยนต์ M133 ต้องเจอกับแรงอัดที่สูงและอุณหภูมิที่สูงอยู่ตลอดเวลา เทอร์โบจึงมีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น เฉลี่ยราว 60,000 – 75,000 กม. หลังจากนั้นอาจเริ่มมีเสียงหวีด แรงบูสต์ลดลง หรือเกิดอาการกินน้ำมันเครื่อง หากคุณใช้รถในสไตล์ขับขี่เร่งจัดทุกวัน อายุของเทอร์โบอาจสั้นลงอีก
แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงกว่า GLA เวอร์ชันปกติแต่ต้องยอมรับว่า GLA 45 AMG ให้ประสบการณ์ขับขี่คนละระดับ มันเป็นรถขนาดกะทัดรัดที่สามารถเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 วินาที เสียงเครื่องยนต์และเสียงท่อไอเสียที่ดังกระหึ่มคือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของรถ AMG พันธุ์แท้ที่หลายคนยอมจ่ายเพื่อสัมผัส หากคุณกำลังมองหา GLA 45 มือสอง สิ่งสำคัญคือการตรวจสอบประวัติการบำรุงรักษาให้ละเอียด ดูว่าผู้ใช้เดิมดูแลรักษาตามระยะหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องของโซ่ไทม์มิ่ง เทอร์โบ และระบบหล่อเย็น เพราะค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอะไหล่เหล่านี้ค่อนข้างสูง
ระบบส่งกำลังของ Mercedes-Benz GLA X156

Mercedes-Benz GLA X156 ทั้ง 3 เครื่องยนต์ที่ขายในประเทศไทยใช้เกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 สปีด 7G-DCT เหมือนกัน เกียร์ลูกนี้ได้รับเสียงชื่นชมเรื่องการตอบสนองที่รวดเร็วและความลื่นไหลต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รถรุ่นปีแรก ๆ อาจพบปัญหาในด้านความนุ่มนวลอยู่บ้างเล็กน้อย เกียร์อาจมีอาการกระตุกหรือหน่วง แต่ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขหมดแล้วในรุ่นปรับโฉมปี 2017 ทำให้ระบบเกียร์มีความเสถียรและทนทานมากขึ้นในภาพรวม
สำหรับรุ่นสมรรถนะสูงอย่าง GLA 45 AMG จะได้เกียร์เวอร์ชันพิเศษที่ชื่อว่า AMG SPEEDSHIFT DCT ซึ่งเป็นเวอร์ชันเสริมความแข็งแกร่งของชิ้นส่วนและปรับจูนอัตราทดให้เหมาะกับการขับขี่แบบสปอร์ตโดยเฉพาะ
จุดอ่อนที่ควรระวัง
แม้ว่าเกียร์ 7G-DCT ของ GLA X156 จะมีโครงสร้างที่แข็งแรง แต่จุดที่มักพบปัญหาคือชุดเมคคาทรอนิกส์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการควบคุมไฮดรอลิกและอิเล็กทรอนิกส์ในระบบเกียร์ อาการที่พบบ่อยคือเกียร์กระตุกเวลาขับช้า เปลี่ยนเกียร์ไม่สมูท หรือมีการดีเลย์ในการตอบสนอง สิ่งเหล่านี้มักเกิดจากการละเลยการเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระยะ แนะนำว่าควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ทุก 40,000 กม. และอย่าลืมเปลี่ยนน้ำมันในเฟืองท้ายไปด้วยพร้อมกัน หากขับขี่แบบดุดันเป็นประจำก็ควรลดระยะเปลี่ยนถ่ายเหลวเหลือประมาณ 30,000 กม.
ระบบรองรับและระบบบังคับเลี้ยว
ระบบช่วงล่างและพวงมาลัย ของ GLA X156 ถือว่าแข็งแรงใช้ได้ในภาพรวม ชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างโช้กอัพ ลูกหมาก และบูชช่วงล่าง มักมีอายุการใช้งาน เกิน 60,000 กิโลเมตร โดยไม่ต้องซ่อมหรือเปลี่ยน ลูกปืนล้อปกติจะอยู่ได้ระหว่าง 85,000 – 95,000 กม. ขึ้นอยู่กับสภาพถนนและพฤติกรรมการขับขี่ ส่วนปลายคันส่ง (Tie Rod Ends) มีอายุการใช้งานพอ ๆ กับลูกปืนล้อ และเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่มักถูกเปลี่ยนพร้อมกันเมื่อล้อเริ่มมีเสียงหรือพวงมาลัยเริ่มไม่แน่น
ระบบเบรก
ความทนทานและอายุการใช้งานของระบบเบรกขึ้นอยู่กับวิธีขับขี่ของแต่ละคน เช่น หากคุณขับรถในเมืองบ่อย หรือเหยียบเบรกแรง ๆ เป็นประจำ ก็จะต้องเปลี่ยนผ้าเบรกเร็วกว่าปกติ โดยทั่วไปแล้วผ้าเบรกหน้ามีอายุการใช้งานประมาณ 20,000 กม. แต่ในรถที่ขับขี่แบบทะนุถนอมอาจยืดได้ถึง 30,000 กม. ส่วนจานเบรกหากไม่คดไม่บิ่นก็ใช้งานได้หลายหมื่นกิโลเมตร แต่ถ้าขับดุ เบรกหนักบ่อย ๆ อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนหลังจากใช้งานประมาณ 60,000 กม. และควรเปลี่ยนพร้อมผ้าเบรกเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

ปัญหาทั่วไปอื่น ๆ
ปัญหาถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ
ในปี 2020 Mercedes-Benz ได้ประกาศเรียกคืน GLA X156 บางคัน เนื่องจากพบปัญหาเกี่ยวกับถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ ซึ่งอาจทำงานเองโดยไม่มีสาเหตุ เช่น พองตัวขึ้นแม้ไม่มีแรงกระแทกหรือการชน อันเป็นข้อบกพร่องที่ส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ หากคุณกำลังจะซื้อ GLA มือสอง ควรขอเลขตัวถัง (VIN) และตรวจสอบกับศูนย์บริการว่า รถคันนั้นเคยได้รับการเข้าร่วมแคมเปญเรียกคืนนี้หรือยัง และมีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้วหรือไม่ เพื่อความมั่นใจว่ารถปลอดภัยเต็มร้อย
ปัญหาฝาปิดช่องเติมน้ำมัน
ปัญหาที่พบได้บ่อยใน GLA หลายคันคือฝาปิดช่องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจเปิดออกเองโดยไม่ตั้งใจ หรือปิดแล้วไม่สนิท บางครั้งฝาอาจดูเหมือนล็อกแล้ว แต่จริง ๆ แล้วไม่แนบสนิทกับตัวรถ สาเหตุหลักมักมาจาก ไดรฟ์มอเตอร์ไฟฟ้าที่ควบคุมกลไกล็อกฝา เสื่อมสภาพ วิธีแก้ไขคือเปลี่ยนชุดมอเตอร์ควบคุมตัวล็อก ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่ควรรีบแก้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเชื้อเพลิงระเหยหรือกลิ่นน้ำมันโชยออกมานอกรถ
ปัญหาตัวดูดซับไอน้ำมันเชื้อเพลิง
สำหรับ GLA X156 ที่ผลิตก่อนปี 2015 บางคันเจอปัญหาเกี่ยวกับตัวดูดซับไอระเหยจากน้ำมัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบควบคุมมลพิษ หากชิ้นส่วนนี้มีปัญหา จะทำให้หัวจ่ายปั๊มน้ำมันตัดการทำงานบ่อยขณะกำลังเติมน้ำมัน Mercedes ได้ออกแบบชิ้นส่วนเวอร์ชันใหม่มาเพื่อแก้ปัญหานี้ ดังนั้นหากรถคันที่คุณดูยังไม่เคยเปลี่ยนชิ้นส่วนนี้ แนะนำให้เปลี่ยนชิ้นส่วนเป็นเวอร์ชันอัปเกรด เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในเวลาต้องเติมน้ำมัน
ปัญหากลไกพับกระจก
อีกหนึ่งปัญหาที่เจอได้ใน GLA X156 บางคันคือกลไกพับกระจกมองข้างไฟฟ้าทำงานผิดพลาด ปกติเวลากดเปิดกระจกมองข้าง กระจกจะหยุดในตำแหน่งกางออกตั้งฉากกับตัวรถ แต่ปัญหาที่เจอคือกระจกกางออกไปเกินตำแหน่งที่กำหนด ทำให้ผู้ขับมองหลังไม่ได้ ถ้าอาการนี้เกิดซ้ำแม้จะพับ-กางใหม่หลายรอบ ต้องแก้ด้วยการรีเซ็ตกลไกกระจก ซึ่งสามารถทำได้ที่ศูนย์บริการหรือช่างที่มีอุปกรณ์วิเคราะห์ระบบไฟฟ้าของ Mercedes-Benz โดยเฉพาะ
ปัญหาแบตเตอรี่เสริม
Mercedes-Benz GLA X156 มีระบบไฟฟ้าที่ค่อนข้างซับซ้อน อุปกรณ์สำคัญชิ้นหนึ่งคือแบตเตอรี่เสริม โดยทั่วไปแบตเตอรี่ลูกนี้มีอายุการใช้งานราว 6 – 7 ปี ทำหน้าที่รองรับระบบไฟฟ้าหลายส่วน รวมถึงระบบ Start-Stop อัตโนมัติ
อาการที่บ่งบอกว่าแบตเตอรี่เสริมเริ่มเสื่อมอาจไม่ได้แจ้งเตือนชัดเจนเสมอไป บางครั้งแผงหน้าปัดอาจโชว์ข้อความเตือน, แต่ในหลายกรณี สัญญาณแรกจะมาในรูปแบบของ ระบบ Start-Stop ที่เริ่มทำงานผิดปกติ เช่น หลังจากหยุดรถในสัญญาณไฟแดง เครื่องยนต์ไม่ติดกลับอัตโนมัติ หรือเมื่อเหยียบคันเร่ง รถเกิดอาการสั่นเบา ๆ แผงหน้าปัดกะพริบ หรือไฟดับเป็นช่วง ๆ
ถ้าแบตเตอรี่เสริมเสื่อมจนถึงจุดหนึ่ง อาจเห็นไฟ Check Engine โชว์ขึ้นพร้อมข้อความแสดงข้อผิดพลาดจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเปลี่ยนแบตลูกนี้มักไม่ยุ่งยาก แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องใช้แบตเตอรี่คุณภาพดี ที่มีค่าเทียบเท่ากับของเดิม และต้องติดตั้งพร้อม ท่อระบายไอแก๊ส (vent tube) เพื่อป้องกันไอระเหยจากแบตไหลย้อนเข้าสู่ห้องโดยสาร ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
ปัญหาภายในและระบบอิเล็กทรอนิกส์
ห้องโดยสารของ GLA X156 ให้ความรู้สึกแข็งแรง วัสดุภายในมีคุณภาพดี เบาะหนัง อุปกรณ์ตกแต่ง และแผงหน้าปัดทนต่อการใช้งานได้ดีแม้ผ่านเวลาไปหลายปี ระบบอินโฟเทนเมนต์และอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ โดยทั่วไปทำงานได้เสถียรดี แต่บางครั้งอาจมีบั๊กเล็ก ๆ เช่น การเชื่อมต่อ Bluetooth หรือการตอบสนองของหน้าจอที่ช้าลง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการอัปเดตซอฟต์แวร์จากศูนย์บริการ
ระบบปรับอากาศของ GLA X156 ค่อนข้างทนทาน คอมเพรสเซอร์ไม่ค่อยเสีย มอเตอร์พัดลมและตัวต้านทานกระแสไฟฟ้าทำงานได้ทนทาน โดยปัญหาในระบบนี้มักพบได้น้อยกว่าคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน
เบาะปรับไฟฟ้าและกลไกภายในต่าง ๆ เช่น สวิตช์ปรับกระจกหรือปรับเบาะถือว่ามีความแน่นหนาและแข็งแรง หากรถผ่านการใช้งานมาหลายปีก็อาจมีร่องรอยสึกหรอที่ขอบเบาะฝั่งคนขับ เช่น หนังลอกหรือย่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการใช้งานจริง
ภายนอกและตัวถัง
ในแง่คุณภาพตัวถังและสี GLA X156 ทำได้ดีเกินมาตรฐานในรถกลุ่มเดียวกัน ตัวถังประกอบแน่น ช่องว่างระหว่างแผงประตูและกระโปรงรถมีความสม่ำเสมอและรักษารูปทรงได้ดีแม้ผ่านการใช้งานหลายปี ประตูรถมีความแน่นและปิดสนิท ไม่มีอาการโยกคลอนหรือเสียงลมลอดที่พบได้บ่อยในรถบางยี่ห้อ ขณะที่คุณภาพสีตัวถังโดยรวมก็มีอยู่ในระดับดี สีไม่ซีดง่าย แต่ในรุ่นที่ใช้สีเข้ม เช่น สีดำ หรือสีเทาเมทัลลิก มักเห็นรอยขีดข่วน รอยขนแมว ได้ชัดกว่ารถสีอ่อน ดังนั้นถ้าคุณกำลังดูรถมือสองสีเข้มก็ควรเช็กสภาพผิวของชั้นสีด้วย
บทสรุป

Mercedes-Benz GLA X156 คือรถ Crossover SUV ที่ผสานความหรูหรากับขนาดกะทัดรัดได้ลงตัว มันให้ทัศนวิสัยแบบรถยกสูง ใช้งานในเมืองคล่อง และยังคงกลิ่นอายของความเป็น Mercedes อย่างชัดเจน แม้จะมีจุดที่ต้องระวัง เช่น ระบบไฟฟ้า เกียร์ หรืออุปกรณ์บางจุดที่เสื่อมตามอายุ แต่หากดูแลถูกวิธี รถคันนี้สามารถเป็นคู่ใจที่ใช้งานได้ยาวนานโดยไม่ปวดหัว
หากคุณกำลังมองหา GLA มือสอง ควรเลือกคันที่มีประวัติดูแลครบ มีเอกสารการเปลี่ยนของเหลวและอะไหล่ตามระยะ โดยเฉพาะในจุดสำคัญอย่างเกียร์ เทอร์โบ หรือระบบช่วงล่าง การให้ช่างที่มีประสบการณ์กับ Mercedes ตรวจเช็กรถก่อนซื้อ เป็นเรื่องที่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย เพราะสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจบานปลายในภายหลัง
การดูแลรถรุ่นนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนแท้เสมอไป แต่สามารถเลือกใช้อะไหล่เทียบคุณภาพดีทดแทนได้ อย่ามองข้ามเรื่องความปลอดภัยหรือความทนทาน เพราะของราคาถูกเกินไปอาจจบที่ค่าซ่อมแพงขึ้นกว่าเดิม
ท้ายที่สุดแล้ว หากคุณเข้าใจข้อดี ข้อจำกัด และใส่ใจดูแลอย่างเหมาะสม GLA X156 จะตอบแทนคุณด้วยการเป็น Crossover SUV พรีเมียมที่ใช้งานสนุก ดูดี และคุ้มค่าไปได้อีกหลายปี
ค้นหา Mercedes-Benz GLA รุ่นแรก (ปี 2013-2020) ที่ใช่สำหรับคุณ
เรารวบรวมประกาศขาย GLA X156 มือสองจาก Facebook Marketplace, Kaidee, One2Car และ TaladRod มาไว้ในที่เดียว
เปรียบเทียบราคารถเบนซ์มือสอง เช็คประเภทผู้ขาย แล้วเลือกคันที่ตรงใจคุณได้ง่ายๆ
Mercedes-Benz GLA มากมายที่นี่ → ค้นหาเบนซ์ GLA รุ่นแรก
- กรุงเทพมหานคร, 500 km
- ยี่ห้อ: Benz
- รุ่น: GLA-Class
- แหล่งที่มา: Facebook, Kaidee, One2Car, TaladRod