Mercedes-Benz GLA รุ่นแรก - รถมือสอง SUV หรูไซส์เล็กที่น่าจับตามองในงบสุดคุ้ม

เบนซ์ลงตลาด SUV ครั้งแรกด้วยการเปิดตัว GLA รุ่นแรก (รหัสตัวถัง X156)

ในช่วงต้นทศวรรษ 2010 วงการยานยนต์เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ผู้คนจำนวนมากหันมาให้ความสนใจรถ Crossover SUV ขนาดกะทัดรัดมากขึ้น เพราะมันผสมผสานความสะดวกสบายแบบรถเก๋งเข้ากับภาพลักษณ์และความอเนกประสงค์ของรถ SUV ได้ลงตัว รถกลุ่มนี้จึงไม่เพียงดึงดูดแค่ผู้ใช้ทั่วไปที่มองหาความคุ้มค่าเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นสมรภูมิใหม่ที่แบรนด์หรูอย่าง Mercedes-Benz ไม่อยากพลาด

ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่อยากได้รถหรูในขนาดกะทัดรัด Mercedes-Benz จึงเปิดตัว GLA รุ่นแรก (รหัสตัวถัง X156) เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของรถยนต์เซกเมนต์ใหม่ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว GLA เปิดตัวครั้งแรกในปี 2013 และวางจำหน่ายในประเทศไทยปี 2014 มันใช้พื้นฐานร่วมกับ Mercedes-Benz A-Class รุ่น W176 ทำให้มีขนาดไม่ใหญ่มาก ขับง่ายในเมือง แต่ยังคงภาพลักษณ์และคุณสมบัติของความเป็น Mercedes-Benz ไว้ครบถ้วน

เมื่อเวลาผ่านไป ประกอบกับมี GLA เจเนอเรชันที่ 2 มาแทนที่ ทำให้ GLA X156 เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดรถมือสองมากขึ้นและกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากขับ Mercedes-Benz ในราคาที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม การซื้อรถมือสองโดยเฉพาะรถพรีเมียมจากยุโรปมีสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษทั้งเรื่องความทนทานของอะไหล่ ปัญหาที่พบบ่อย ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา รวมถึงรายละเอียดเฉพาะรุ่นที่อาจส่งผลต่อประสบการณ์การใช้งานในระยะยาว

ในบทความนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ GLA รุ่นแรก (X156) ให้มากขึ้น ตั้งแต่ประวัติการพัฒนา จุดเด่น จุดด้อย ปัญหาทางเทคนิคที่ควรระวัง และคำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังมองหารถมือสอง ถ้าคุณกำลังสนใจจะซื้อ Crossover SUV มือสองที่มีขนาดกะทัดรัด รูปลักษณ์ทันสมัย ขับสนุก และมีตราดาวสามแฉกประดับอยู่หน้ารถ ห้ามพลาดบทความนี้เด็ดขาด

ประวัติและภาพรวมของ Benz GLA

Mercedes-Benz GLA X156 ถือเป็นก้าวสำคัญของแบรนด์ดาวสามแฉกในการลงมาเล่นในตลาด Crossover ขนาดเล็กอย่างจริงจัง รถรุ่นนี้เปิดตัวครั้งแรกที่งาน Frankfurt Motor Show ปี 2013 และเริ่มวางจำหน่ายทั่วโลกในปี 2014 โดยถูกวางให้เป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์คนเมืองที่อยากได้ความหรูหรา ความกะทัดรัดคล่องตัว และฟังก์ชันใช้งานที่ครบครัน

GLA X156 สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม MFA (Modular Front Architecture) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าขนาดเล็กของ Mercedes-Benz จุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้คือรองรับการพัฒนารถยนต์หลากหลายโมเดล รองรับเครื่องยนต์หลากหลายความจุ มีความแข็งแกร่ง ให้ประสิทธิภาพการขับขี่และการควบคุมที่ดี และปลอดภัยสูง

รุ่นที่ได้รับความนิยมสูงคือ GLA200 มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซินแบบ 4 สูบเรียง 1.6 ลิตร เทอร์โบ ในด้านระบบส่งกำลังจะเป็นเกียร์อัตโนมัติคลัตช์คู่ 7 สปีด (7G-DCT) โดยรุ่นเริ่มต้นจะมาพร้อมระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ขณะที่รุ่นสูงขึ้นอย่าง GLA 250 และเวอร์ชัน AMG จะติดตั้งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4MATIC มาเป็นมาตรฐาน

สำหรับสายซิ่งที่ชื่นชอบความแรง Mercedes-Benz ได้นำเสนอรุ่น GLA 45 AMG ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร เทอร์โบ รหัส M133 ให้กำลังสูงถึง 360 แรงม้า ณ ตอนเปิดตัว และเพิ่มขึ้นเป็น 381 แรงม้าในรุ่นปรับโฉม Facelift ในปี 2017 ถือเป็นหนึ่งในรถยนต์เครื่อง 2.0 ลิตรขับหน้าที่แรงที่สุดในโลก ณ ช่วงเวลานั้น

ในปี 2017 GLA ก็ได้รับการปรับโฉม Facelift อย่างเป็นทางการ โดยมากับการเปลี่ยนแปลงด้านดีไซน์ภายนอก กระจังหน้าใหม่ กันชนหน้า-หลังใหม่ และเปลี่ยนไฟหน้าเป็นแบบ LED ส่วนการปรับปรุงด้านเครื่องยนต์มีเพียงเล็กน้อย เช่น การเพิ่มแรงม้าในรุ่น GLA 45 AMG จาก 360 เป็น 381 แรงม้า พร้อมการปรับแต่งระบบช่วงล่างและระบบควบคุมต่าง ๆ ให้ตอบสนองฉับไวขึ้น

GLA X156 จึงเป็นรถที่ผสมผสานภาพลักษณ์ความหรูหรา ความคล่องตัว และสมรรถนะที่ให้ความสนุกสนานได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะเมื่อมองในมุมของตลาดรถมือสองในปัจจุบันก็ยังถือว่าเป็นรุ่นที่น่าสนใจ เพราะให้ประสบการณ์การขับขี่ในแบบ Mercedes-Benz ในราคาที่เข้าถึงง่าย อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อควรศึกษาข้อมูลแต่ละรุ่นย่อยให้ละเอียด เพราะรุ่นที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย อาจให้ประสบการณ์ที่ต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา

รุ่นเครื่องยนต์และปัญหาทั่วไป

Benz GLA เริ่มวางจำหน่ายทั่วโลกในปี 2014

Mercedes-Benz GLA X156 ทำตลาดในประเทศไทย 3 เครื่องยนต์ ได้แก่

  1. เบนซิน 1.6 ลิตร เทอร์โบ ใช้เครื่องยนต์ M270 วางขายในรหัส gla200
  2. เบนซิน 2.0 ลิตร เทอร์โบ ใช้เครื่องยนต์ M270 วางขายในรหัส GLA 250
  3. เบนซิน 2.0 ลิตร เทอร์โบ ใช้เครื่องยนต์ M133 วางขายในรหัส GLA 45 AMG

แต่ละเครื่องยนต์มีจุดเด่น-จุดด้อยและข้อควรรู้ที่ผู้ซื้อรถมือสองต้องพิจารณา ดังนี้

เครื่องยนต์ M270 (1.6 และ 2.0 ลิตร)

Mercedes-Benz GLA X156 รุ่น GLA 200 และ GLA 250 ใช้เครื่องยนต์ตระกูล M270 เหมือนกัน โดยเครื่องยนต์ตระกูลนี้เป็นบล็อก 4 สูบ 16 วาล์ว พ่วงเทอร์โบ ความแตกต่างของ GLA 200 และ GLA 250 คือปริมาตรกระบอกสูบที่ 1.6 ลิตร กับ 2.0 ลิตร ขณะที่ส่วนประกอบและชิ้นส่วนภายในหลาย ๆ อย่างสามารถใช้ร่วมกันได้ เครื่องยนต์ตระกูล M270 มีการออกแบบที่เน้นประหยัดพื้นที่ น้ำหนักเบา และดูแลรักษาไม่ยาก แต่แน่นอนว่าไม่มีเครื่องยนต์ไหนที่สมบูรณ์แบบตลอดอายุการใช้งาน

จุดอ่อนที่ควรรู้ของเครื่องยนต์ M270

ระบบระบายความร้อน

ระบบระบายความร้อนคือจุดที่หลายคนเจอปัญหาในเครื่องยนต์ M270 ปั๊มน้ำและเทอร์โมสตัทมักมีอายุใช้งานเฉลี่ยประมาณ 60,000 - 70,000 กม. แต่ก็อาจเสียก่อนเวลาได้โดยไม่ต้องมีสัญญาณเตือนใด ๆ อาการที่เจอบ่อยคือขณะขับขี่ตามปกติอาจมีไอน้ำพุ่งจากใต้ฝากระโปรง และมาพร้อมกลิ่นของน้ำยาหล่อเย็น ถ้ามีอาการเหล่านี้ชัดเจนว่าปั๊มน้ำอาจแตกหรือรั่วซึม ควรหยุดรถทันทีและเข้าศูนย์บริการที่ใกล้ที่สุด

ส่วนเทอร์โมสตัทหากเสียจะไม่โชว์อาการแบบชัดเจน แต่อุณหภูมิเครื่องยนต์จะไม่นิ่ง เช่น ร้อนเร็วผิดปกติ หรืออุณหภูมิแกว่งไปแกว่งมา สังเกตได้จากความร้อนเครื่องยนต์ที่ช่วงแรกปกติ ขับไปสักพักความร้อนขึ้น พอจอดสักพักความร้อนก็ลงมาปกติ ปัญหานี้อาจดูเหมือนไม่ร้ายแรงในระยะแรก ๆ แต่ปล่อยไว้นานอาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้

ปัญหาเทอร์โบชาร์จ

เมื่อใช้งานไปประมาณ 60,000 กม. ผู้ใช้หลายรายรายงานว่าเครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น ขับแล้วอืด แถมไฟ Check Engine ยังติดขึ้นมา และมีรหัส P0299 (แรงดันบูสต์ต่ำ) ถูกบันทึกไว้ในระบบ ต้นตอของปัญหานี้มักจะไม่ใช่เทอร์โบเสียทั้งลูก แต่เป็นวาล์วควบคุมแรงดันบูสต์ที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีต้นทุนไม่สูงมาก แต่หากไม่เปลี่ยนก็จะทำให้สมรรถนะเครื่องยนต์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ระบบจุดระเบิด

เมื่อใช้งานถึงประมาณ 75,000 - 80,000 กม. คอยล์จุดระเบิดอาจเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เช่น เครื่องเดินไม่เรียบ หรือเร่งไม่ขึ้น โดยคอยล์มักจะพังทีละตัว ไม่ได้เสียพร้อมกันทั้งหมด แต่ช่างส่วนใหญ่แนะนำให้เปลี่ยนยกชุดเพื่อความชัวร์ ไม่ต้องซ่อมจุกจิกทีละชิ้น

ปัญหาอื่น ๆ ที่ควรจับตา

  • วาล์วระบายอากาศในห้องเครื่อง (PCV Valve): มักมีปัญหาที่ระยะประมาณ 60,000 กม. สัญญาณคือไฟ Check Engine ติด และมีโค้ด P052E71 ในระบบ เป็นจุดที่มักมองข้ามแต่เปลี่ยนไม่ยากเพราะเป็นชิ้นส่วนที่อยู่บนท่ออากาศ ไม่ต้องรื้อเครื่อง
  • ยางรองแท่นเครื่อง: พอใช้งานไปถึงประมาณ 90,000 - 100,000 กม. ยางแท่นเครื่องจะเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้รถมีอาการสั่นสะเทือนมากขึ้น เห็นได้ชัดตอนเข้าเกียร์ D และเหยียบเบรกค้าง แรงสั่นนี้อาจสร้างความรำคาญ และทำให้เกิดเสียงรบกวนตามชิ้นส่วนภายในห้องโดยสาร
  • ซีลเพลาข้อเหวี่ยง: โดยเฉลี่ยจะเริ่มรั่วซึมที่ระยะ 75,000 - 80,000 กม. และมักเปลี่ยนพร้อมกับชุดสายพานหน้าเครื่อง (รอกสายพาน, รอกตึง) เพื่อประหยัดค่าแรงในการถอดประกอบ
  • ท่อน้ำมันเชื้อเพลิง: อาจเริ่มมีการรั่วซึมเล็กน้อยหลังวิ่งไปแล้ว 75,000 - 100,000 กม. สังเกตได้จากกลิ่นน้ำมันเบนซินที่โชยเข้ามาในห้องโดยสาร จุดนี้ตรวจเช็กได้ง่ายและเปลี่ยนอะไหล่ไม่ยาก

เครื่องยนต์ M133

เครื่องยนต์ M133 ติดตั้งมาใน Mercedes-Benz GLA X156 เวอร์ชัน AMG เป็นบล็อกเครื่องยนต์ 4 สูบเรียง ความจุ 2.0 ลิตร พ่วงเทอร์โบเดี่ยวแบบ Twin-scroll โดยในรุ่นก่อนปรับโฉมมีกำลัง 360 แรงม้า ส่วนรุ่นปรับโฉม Facelift ปี 2017 ปรับเพิ่มกำลังเป็น 381 แรงม้า และให้แรงบิดสูงสุด 475 นิวตันเมตร ถือเป็นเครื่องยนต์ที่ทรงพลังที่สุดของ GLA X156 และยังเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ 4 สูบที่แรงที่สุดในโลกที่ผลิตในเชิงพาณิชย์ ณ ช่วงเวลาที่เปิดตัว

แน่นอนว่าเมื่อคุณเล่นเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง ย่อมต้องแลกมาด้วยต้นทุนการดูแลรักษาที่สูงขึ้นตามไปด้วย รวมถึงอายุขัยของชิ้นส่วนบางจุดที่สั้นกว่าเครื่องยนต์ธรรมดาทั่วไป สิ่งที่ต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษในเครื่อง M133 ได้แก่

  • โซ่ไทม์มิ่ง: แม้จะออกแบบให้ใช้ได้ยาวนานกว่าสายพาน แต่ในเครื่องยนต์ M133 ผู้ใช้จำนวนไม่น้อยรายงานว่าเริ่มมีเสียงรบกวนหรือปัญหาเรื่องระยะห่างที่มากเกินไปตั้งแต่เมื่อใช้งานไปได้ประมาณ 45,000 กม. ซึ่งเร็วกว่าที่ควรจะเป็น หากละเลยอาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงต่อเครื่องยนต์ได้
  • เทอร์โบชาร์จเจอร์: ด้วยการใช้งานที่หนักหน่วง เทอร์โบชาร์จเจอร์ของเครื่องยนต์ M133 ต้องเจอกับแรงอัดที่สูงและอุณหภูมิที่สูงอยู่ตลอดเวลา เทอร์โบจึงมีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น เฉลี่ยราว 60,000 – 75,000 กม. หลังจากนั้นอาจเริ่มมีเสียงหวีด แรงบูสต์ลดลง หรือเกิดอาการกินน้ำมันเครื่อง หากคุณใช้รถในสไตล์ขับขี่เร่งจัดทุกวัน อายุของเทอร์โบอาจสั้นลงอีก

แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงกว่า GLA เวอร์ชันปกติแต่ต้องยอมรับว่า GLA 45 AMG ให้ประสบการณ์ขับขี่คนละระดับ มันเป็นรถขนาดกะทัดรัดที่สามารถเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 วินาที เสียงเครื่องยนต์และเสียงท่อไอเสียที่ดังกระหึ่มคือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของรถ AMG พันธุ์แท้ที่หลายคนยอมจ่ายเพื่อสัมผัส หากคุณกำลังมองหา GLA 45 มือสอง สิ่งสำคัญคือการตรวจสอบประวัติการบำรุงรักษาให้ละเอียด ดูว่าผู้ใช้เดิมดูแลรักษาตามระยะหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องของโซ่ไทม์มิ่ง เทอร์โบ และระบบหล่อเย็น เพราะค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอะไหล่เหล่านี้ค่อนข้างสูง

ระบบส่งกำลังของ Mercedes-Benz GLA X156

gla เด่นเรื่องพวงมาลัยแข็งแรงใช้งานได้นาน

Mercedes-Benz GLA X156 ทั้ง 3 เครื่องยนต์ที่ขายในประเทศไทยใช้เกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 สปีด 7G-DCT เหมือนกัน เกียร์ลูกนี้ได้รับเสียงชื่นชมเรื่องการตอบสนองที่รวดเร็วและความลื่นไหลต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รถรุ่นปีแรก ๆ อาจพบปัญหาในด้านความนุ่มนวลอยู่บ้างเล็กน้อย เกียร์อาจมีอาการกระตุกหรือหน่วง แต่ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขหมดแล้วในรุ่นปรับโฉมปี 2017 ทำให้ระบบเกียร์มีความเสถียรและทนทานมากขึ้นในภาพรวม

สำหรับรุ่นสมรรถนะสูงอย่าง GLA 45 AMG จะได้เกียร์เวอร์ชันพิเศษที่ชื่อว่า AMG SPEEDSHIFT DCT ซึ่งเป็นเวอร์ชันเสริมความแข็งแกร่งของชิ้นส่วนและปรับจูนอัตราทดให้เหมาะกับการขับขี่แบบสปอร์ตโดยเฉพาะ

จุดอ่อนที่ควรระวัง

แม้ว่าเกียร์ 7G-DCT ของ GLA X156 จะมีโครงสร้างที่แข็งแรง แต่จุดที่มักพบปัญหาคือชุดเมคคาทรอนิกส์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการควบคุมไฮดรอลิกและอิเล็กทรอนิกส์ในระบบเกียร์ อาการที่พบบ่อยคือเกียร์กระตุกเวลาขับช้า เปลี่ยนเกียร์ไม่สมูท หรือมีการดีเลย์ในการตอบสนอง สิ่งเหล่านี้มักเกิดจากการละเลยการเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระยะ แนะนำว่าควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ทุก 40,000 กม. และอย่าลืมเปลี่ยนน้ำมันในเฟืองท้ายไปด้วยพร้อมกัน หากขับขี่แบบดุดันเป็นประจำก็ควรลดระยะเปลี่ยนถ่ายเหลวเหลือประมาณ 30,000 กม.

ระบบรองรับและระบบบังคับเลี้ยว

ระบบช่วงล่างและพวงมาลัย ของ GLA X156 ถือว่าแข็งแรงใช้ได้ในภาพรวม ชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างโช้กอัพ ลูกหมาก และบูชช่วงล่าง มักมีอายุการใช้งาน เกิน 60,000 กิโลเมตร โดยไม่ต้องซ่อมหรือเปลี่ยน ลูกปืนล้อปกติจะอยู่ได้ระหว่าง 85,000 – 95,000 กม. ขึ้นอยู่กับสภาพถนนและพฤติกรรมการขับขี่ ส่วนปลายคันส่ง (Tie Rod Ends) มีอายุการใช้งานพอ ๆ กับลูกปืนล้อ และเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่มักถูกเปลี่ยนพร้อมกันเมื่อล้อเริ่มมีเสียงหรือพวงมาลัยเริ่มไม่แน่น

ระบบเบรก

ความทนทานและอายุการใช้งานของระบบเบรกขึ้นอยู่กับวิธีขับขี่ของแต่ละคน เช่น หากคุณขับรถในเมืองบ่อย หรือเหยียบเบรกแรง ๆ เป็นประจำ ก็จะต้องเปลี่ยนผ้าเบรกเร็วกว่าปกติ โดยทั่วไปแล้วผ้าเบรกหน้ามีอายุการใช้งานประมาณ 20,000 กม. แต่ในรถที่ขับขี่แบบทะนุถนอมอาจยืดได้ถึง 30,000 กม. ส่วนจานเบรกหากไม่คดไม่บิ่นก็ใช้งานได้หลายหมื่นกิโลเมตร แต่ถ้าขับดุ เบรกหนักบ่อย ๆ อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนหลังจากใช้งานประมาณ 60,000 กม. และควรเปลี่ยนพร้อมผ้าเบรกเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

gla200 มือสองควรตรวจเช็คปัญหาระบบระบายความร้อนก่อนซื้อ

ปัญหาทั่วไปอื่น ๆ

ปัญหาถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ

ในปี 2020 Mercedes-Benz ได้ประกาศเรียกคืน GLA X156 บางคัน เนื่องจากพบปัญหาเกี่ยวกับถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ ซึ่งอาจทำงานเองโดยไม่มีสาเหตุ เช่น พองตัวขึ้นแม้ไม่มีแรงกระแทกหรือการชน อันเป็นข้อบกพร่องที่ส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ หากคุณกำลังจะซื้อ GLA มือสอง ควรขอเลขตัวถัง (VIN) และตรวจสอบกับศูนย์บริการว่า รถคันนั้นเคยได้รับการเข้าร่วมแคมเปญเรียกคืนนี้หรือยัง และมีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้วหรือไม่ เพื่อความมั่นใจว่ารถปลอดภัยเต็มร้อย

ปัญหาฝาปิดช่องเติมน้ำมัน

ปัญหาที่พบได้บ่อยใน GLA หลายคันคือฝาปิดช่องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจเปิดออกเองโดยไม่ตั้งใจ หรือปิดแล้วไม่สนิท บางครั้งฝาอาจดูเหมือนล็อกแล้ว แต่จริง ๆ แล้วไม่แนบสนิทกับตัวรถ สาเหตุหลักมักมาจาก ไดรฟ์มอเตอร์ไฟฟ้าที่ควบคุมกลไกล็อกฝา เสื่อมสภาพ วิธีแก้ไขคือเปลี่ยนชุดมอเตอร์ควบคุมตัวล็อก ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่ควรรีบแก้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเชื้อเพลิงระเหยหรือกลิ่นน้ำมันโชยออกมานอกรถ

ปัญหาตัวดูดซับไอน้ำมันเชื้อเพลิง

สำหรับ GLA X156 ที่ผลิตก่อนปี 2015 บางคันเจอปัญหาเกี่ยวกับตัวดูดซับไอระเหยจากน้ำมัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบควบคุมมลพิษ หากชิ้นส่วนนี้มีปัญหา จะทำให้หัวจ่ายปั๊มน้ำมันตัดการทำงานบ่อยขณะกำลังเติมน้ำมัน Mercedes ได้ออกแบบชิ้นส่วนเวอร์ชันใหม่มาเพื่อแก้ปัญหานี้ ดังนั้นหากรถคันที่คุณดูยังไม่เคยเปลี่ยนชิ้นส่วนนี้ แนะนำให้เปลี่ยนชิ้นส่วนเป็นเวอร์ชันอัปเกรด เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในเวลาต้องเติมน้ำมัน

ปัญหากลไกพับกระจก

อีกหนึ่งปัญหาที่เจอได้ใน GLA X156 บางคันคือกลไกพับกระจกมองข้างไฟฟ้าทำงานผิดพลาด ปกติเวลากดเปิดกระจกมองข้าง กระจกจะหยุดในตำแหน่งกางออกตั้งฉากกับตัวรถ แต่ปัญหาที่เจอคือกระจกกางออกไปเกินตำแหน่งที่กำหนด ทำให้ผู้ขับมองหลังไม่ได้ ถ้าอาการนี้เกิดซ้ำแม้จะพับ-กางใหม่หลายรอบ ต้องแก้ด้วยการรีเซ็ตกลไกกระจก ซึ่งสามารถทำได้ที่ศูนย์บริการหรือช่างที่มีอุปกรณ์วิเคราะห์ระบบไฟฟ้าของ Mercedes-Benz โดยเฉพาะ

ปัญหาแบตเตอรี่เสริม

Mercedes-Benz GLA X156 มีระบบไฟฟ้าที่ค่อนข้างซับซ้อน อุปกรณ์สำคัญชิ้นหนึ่งคือแบตเตอรี่เสริม โดยทั่วไปแบตเตอรี่ลูกนี้มีอายุการใช้งานราว 6 – 7 ปี ทำหน้าที่รองรับระบบไฟฟ้าหลายส่วน รวมถึงระบบ Start-Stop อัตโนมัติ

อาการที่บ่งบอกว่าแบตเตอรี่เสริมเริ่มเสื่อมอาจไม่ได้แจ้งเตือนชัดเจนเสมอไป บางครั้งแผงหน้าปัดอาจโชว์ข้อความเตือน, แต่ในหลายกรณี สัญญาณแรกจะมาในรูปแบบของ ระบบ Start-Stop ที่เริ่มทำงานผิดปกติ เช่น หลังจากหยุดรถในสัญญาณไฟแดง เครื่องยนต์ไม่ติดกลับอัตโนมัติ หรือเมื่อเหยียบคันเร่ง รถเกิดอาการสั่นเบา ๆ แผงหน้าปัดกะพริบ หรือไฟดับเป็นช่วง ๆ

ถ้าแบตเตอรี่เสริมเสื่อมจนถึงจุดหนึ่ง อาจเห็นไฟ Check Engine โชว์ขึ้นพร้อมข้อความแสดงข้อผิดพลาดจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเปลี่ยนแบตลูกนี้มักไม่ยุ่งยาก แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องใช้แบตเตอรี่คุณภาพดี ที่มีค่าเทียบเท่ากับของเดิม และต้องติดตั้งพร้อม ท่อระบายไอแก๊ส (vent tube) เพื่อป้องกันไอระเหยจากแบตไหลย้อนเข้าสู่ห้องโดยสาร ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

ปัญหาภายในและระบบอิเล็กทรอนิกส์

ห้องโดยสารของ GLA X156 ให้ความรู้สึกแข็งแรง วัสดุภายในมีคุณภาพดี เบาะหนัง อุปกรณ์ตกแต่ง และแผงหน้าปัดทนต่อการใช้งานได้ดีแม้ผ่านเวลาไปหลายปี ระบบอินโฟเทนเมนต์และอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ โดยทั่วไปทำงานได้เสถียรดี แต่บางครั้งอาจมีบั๊กเล็ก ๆ เช่น การเชื่อมต่อ Bluetooth หรือการตอบสนองของหน้าจอที่ช้าลง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการอัปเดตซอฟต์แวร์จากศูนย์บริการ

ระบบปรับอากาศของ GLA X156 ค่อนข้างทนทาน คอมเพรสเซอร์ไม่ค่อยเสีย มอเตอร์พัดลมและตัวต้านทานกระแสไฟฟ้าทำงานได้ทนทาน โดยปัญหาในระบบนี้มักพบได้น้อยกว่าคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน

เบาะปรับไฟฟ้าและกลไกภายในต่าง ๆ เช่น สวิตช์ปรับกระจกหรือปรับเบาะถือว่ามีความแน่นหนาและแข็งแรง หากรถผ่านการใช้งานมาหลายปีก็อาจมีร่องรอยสึกหรอที่ขอบเบาะฝั่งคนขับ เช่น หนังลอกหรือย่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการใช้งานจริง

ภายนอกและตัวถัง

ในแง่คุณภาพตัวถังและสี GLA X156 ทำได้ดีเกินมาตรฐานในรถกลุ่มเดียวกัน ตัวถังประกอบแน่น ช่องว่างระหว่างแผงประตูและกระโปรงรถมีความสม่ำเสมอและรักษารูปทรงได้ดีแม้ผ่านการใช้งานหลายปี ประตูรถมีความแน่นและปิดสนิท ไม่มีอาการโยกคลอนหรือเสียงลมลอดที่พบได้บ่อยในรถบางยี่ห้อ ขณะที่คุณภาพสีตัวถังโดยรวมก็มีอยู่ในระดับดี สีไม่ซีดง่าย แต่ในรุ่นที่ใช้สีเข้ม เช่น สีดำ หรือสีเทาเมทัลลิก มักเห็นรอยขีดข่วน รอยขนแมว ได้ชัดกว่ารถสีอ่อน ดังนั้นถ้าคุณกำลังดูรถมือสองสีเข้มก็ควรเช็กสภาพผิวของชั้นสีด้วย

บทสรุป

GLA200 เป็นรุ่นย่อยที่ได้รับความนิยมมากสุดในไทย

Mercedes-Benz GLA X156 คือรถ Crossover SUV ที่ผสานความหรูหรากับขนาดกะทัดรัดได้ลงตัว มันให้ทัศนวิสัยแบบรถยกสูง ใช้งานในเมืองคล่อง และยังคงกลิ่นอายของความเป็น Mercedes อย่างชัดเจน แม้จะมีจุดที่ต้องระวัง เช่น ระบบไฟฟ้า เกียร์ หรืออุปกรณ์บางจุดที่เสื่อมตามอายุ แต่หากดูแลถูกวิธี รถคันนี้สามารถเป็นคู่ใจที่ใช้งานได้ยาวนานโดยไม่ปวดหัว

หากคุณกำลังมองหา GLA มือสอง ควรเลือกคันที่มีประวัติดูแลครบ มีเอกสารการเปลี่ยนของเหลวและอะไหล่ตามระยะ โดยเฉพาะในจุดสำคัญอย่างเกียร์ เทอร์โบ หรือระบบช่วงล่าง การให้ช่างที่มีประสบการณ์กับ Mercedes ตรวจเช็กรถก่อนซื้อ เป็นเรื่องที่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย เพราะสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจบานปลายในภายหลัง

การดูแลรถรุ่นนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนแท้เสมอไป แต่สามารถเลือกใช้อะไหล่เทียบคุณภาพดีทดแทนได้ อย่ามองข้ามเรื่องความปลอดภัยหรือความทนทาน เพราะของราคาถูกเกินไปอาจจบที่ค่าซ่อมแพงขึ้นกว่าเดิม

ท้ายที่สุดแล้ว หากคุณเข้าใจข้อดี ข้อจำกัด และใส่ใจดูแลอย่างเหมาะสม GLA X156 จะตอบแทนคุณด้วยการเป็น Crossover SUV พรีเมียมที่ใช้งานสนุก ดูดี และคุ้มค่าไปได้อีกหลายปี

ค้นหา Mercedes-Benz GLA รุ่นแรก (ปี 2013-2020) ที่ใช่สำหรับคุณ

เรารวบรวมประกาศขาย GLA X156 มือสองจาก Facebook Marketplace, Kaidee, One2Car และ TaladRod มาไว้ในที่เดียว

เปรียบเทียบราคารถเบนซ์มือสอง เช็คประเภทผู้ขาย แล้วเลือกคันที่ตรงใจคุณได้ง่ายๆ

Mercedes-Benz GLA มากมายที่นี่ → ค้นหาเบนซ์ GLA รุ่นแรก

  • กรุงเทพมหานคร, 500 km
  • ยี่ห้อ: Benz
  • รุ่น: GLA-Class
  • แหล่งที่มา: Facebook, Kaidee, One2Car, TaladRod